logo
กรมธนารักษ์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่อุทัยธานี
THE TREASURY
DEPARTMENT
MENU
  • A
  • A
  • A

เกี่ยวกับจังหวัด

 

ประวัติจังหวัดอุทัยธานี

 
ประวัติความเป็นมาโดยสังเขป
 
เมืองอุทัยธานี มีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรยืนยันไว้ว่าเป็นที่อยู่อาศํยของมนุษย์ก่อน ประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา (เขาปลาร้า) เป็นต้น
 
ตำนานเมืองอุไทยธานี (ชื่อในอดีต)
 
ตำนานเก่าเล่าว่า ในสมัยสุโขทัยเจริญรุงเรืองนั้น "ท้าวมหาพรหม ได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ แล้วพาคนไทยเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญ และคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า"เมืองอู่ไทย เรียกชื่อตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทย ซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพันธุ์ และอาหารที่อุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินและเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด "พะตะเบิดได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทยโดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิดได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
เมืองอู่ไทย ต่อมาได้เรียกกันเป็น "เมืองอุไทย" คาดว่าเพี้ยนไปตามสำเนียงชาวพื้นเมืองเดิม ได้มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นนอก มีพระพลสงครามเป็นนายด่านแม่กลอง และพระอินทรเดช เป็นนายด่านหนองหลวง (ปัจจุบันแม่กลอง คือ อำเภออุ้มผาง และหนองหลวง คือ ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) คอยดูแลพม่าที่จะยกทัพมาตามเส้นทางชายแดนด่านแม่ละเมา
 
ต่อมาในสมัยพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148 - 2163) ได้โปรดให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่ง มีบัญชาการตามหัวเมืองนั้น ได้ระบุในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานี เป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย"
 
เมืองอุไทยธานี เป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอนและลึกเข้าไป ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ และไม่สามารถติดต่อทางเรือได้ ดังนั้นชาวเมืองอุไทยธานี จึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียน มาลงที่แม่น้ำ จึงทำให้พ่อค้าพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่าหมู่บ้าน "สะแกกรัง" เนื่องจากเป็นพื้นที่มีป่าสะแกขึ้นเต็มริมน้ำ และมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน
 
บ้านสะแกกรัง ชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็น "ซิเกี๋ยกั้ง" เป็นตลาดซื้อข้าวที่มีพ่อค้าคนจีนนิยมไปตั้งบ้านเรือนและยุ้งฉาง ต่อมาในระยะหลังได้มีเจ้านายและขุนนางมาตั้งบ้านเรือนอยู่ เพราะความสะดวกในการกะเกณฑ์สิ่งของส่งเมืองหลวง ซึ่งเป็นจำพวก มูลค้างคาว ไม้ซุง กระวาน และช้างป่า อีกทั้งยังมีช่องทางในการค้าข้าวอีกด้วย
 
ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.2251-2275) นั้น จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ซึ่งย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชนกูล และต่อมาได้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ "ทองดี " เกิดที่สะแกกรัง
 
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกฯ พระนามเดิม ทองดี เดิมทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) ได้ดำรงตำแหน่ง พระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระเจ้าเอกทัศ) พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสายแตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ต่อมาทรงพระประชวร สิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก
 
บุตรชายชื่อ "ทองด้วง" ภายหลังได้รับราชการเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบจราจลในกรุงธนบุรี และสถาปนาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดิน พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" รัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งประดิษฐาน ณ หอพระในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคม
 
ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่ง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทอง ในพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการะบูชาทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนิน
 
พ.ศ. 2376 ข้าราชการชาวกรุงเทพฯผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานีในสมัยนั้น ได้เห็นว่าบ้านสะแกกรังเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ชาวอุไทยธานีติดต่อค้าขายข้าว และไม้ซุง กับพ่อค้าที่นั่นมานานแล้ว จึงคิดตั้งบ้านเรือนเพื่อค้าขาย ประจวบกับเวลานั้น เจ้าเมืองไชยนาทเป็นเพื่อนกัน จึงขอตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากผู้คนมาติดต่อราชการและมาค้าขายกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าเมืองไม่กล้าขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า อ้างว่ากลัวไข้ป่า จึงเป็นเหตุให้พากันอพยพมาอยู่กันมากขึ้น
 
พ.ศ. 2391 ได้มีการแบ่งเขตดินแดนเมืองอุไทยธานี และเมืองไชยนาทโดยตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้ ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรังไปจดเมืองอุไทยธานีเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาท เป็นของเมืองอุไทยธานี ดังนั้นเมืองอุไทยธานี จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดนเมืองมโนรมย์ ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท
 
พ.ศ.2441 เมืองอุไทยธานี ขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนเป็นขึ้นกับมณฑลอยุธยา สุดท้ายมีการประกาศเลิกมณฑลปี พ.ศ.2476 และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน..

ตราประจำจังหวัดอุทัยธานี

 

 

รูปพลับพลาจตุรมุข หน้าบรรณศาลาตราจักรีตั้งอยู่บนยอดเขาแก้วความหมายของตราประจำจังหวัดอุทัยธานี พลับพลาจตุรมุข หน้าบรรณศาลาตราจักรี เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระปฐม บรมมหาชนกนาถ แห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ด้วยมีหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า บ้านสะแกกรัง อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุทัยธานี เป็นบ้านเกิดของสมเด็จพระปฐมมหาชนกนาถฯ ดังกล่าว ซึ่งมีพระนามเดิมว่า "ทองดี" รับราชการมีตำแหน่งเป็น พระอักษรสุนทรศาสตร์เสมียนตรากรมมหาดไทย และเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกเสนาบดี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ทองด้วง) บุตรชายคนโต ได้สถาปนาเป็น "พระบรมราชจักรีวงศ์" ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดา เป็นที่ "สมเด็จพระชนกาธิบดี" เมื่อ พ.ศ.2338 ตรานี้เป็นรูปพลับพลาจตุรมุข หน้าบรรณศาลาตราจักรี ตั้งอยู่บนยอดเขาแก้ว (เขาสะแกกรัง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานีจังหวัดอุทัยธานี ใช้อักษรย่อว่า "อน"

คำขวัญของจังหวัดอุทัยธานี

อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี
ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว
ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง
แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ

ธงประจำจังหวัดอุทัยธานี

 

 

เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 120x180 ซม. แบ่งเป็นแถบสีตามแนวนอนเท่ากัน 2 สี คือ ริ้วธงส่วนบนเป็นสีเหลือง หมายถึง สีประจำพระบรมราชจักรีวงศ์ คือ พระมหากษัตริย์ ริ้วธงส่วนล่างเป็นสีเขียว หมายถึง สีประจำพระบรมราชสมภพแห่งรัชกาลที่ 1 คือ วันพุธ ตรงกลางผืนธง เป็นตราประจำจังหวัดอุทัยธานี

ดอกไม้ประจำจังหวัด

 

 

ชื่อดอกไม้ ดอกสุพรรณิการ์

ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี คือ ดอกสุพรรณิการ์ หรือมีชื่อพื้นเมืองว่า ฝ้ายคำ มีขึ้นทั่วไปบริเวณเขาสะแกกรัง ตามสารานุกรมไม้ประดับในประเทศไทย ระบุว่า "สุพรรณิการ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงประมาณ 30 ฟุต ใบเว้าเป็น 5 แฉก กว้างประมาณ 6 นิ้ว ยาวประมาณ 8 นิ้ว ท้องใบมีขนอุย ดอกสีเหลืองสดมี 5 กลีบ กลีบดอกหยิบงุ้มเข้าคล้ายถ้วย ดอกใหญ่กว้างประมาณ 5 นิ้ว เกสรตัวผู้อยู่กลางดอกมากมาย ออกดอกเกือบตลอดปีจะดกมาก ในราวเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน" สุพรรณิการ์เป็นไม้กลางแจ้งขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ด มีผู้นิยมปลูกสุพรรณิการ์ เป็นไม้ประดับกันอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นไม้ให้ดอกสีเหลืองอร่ามตา ยิ่งยามออกดอกดกจะเห็นเหลืองไปทั้งต้น แม้ใต้ต้นก็จะเห็นดอกหล่นเหลืองอยู่ทั่วไปหมด นอกจากจะเป็นไม้ประดับแล้ว สุพรรณิการยังมีประโยชน์อย่างอื่น เช่น ยางจากต้นสุพรรณิการ์ให้ผลผลิตเป็น " คารายากัม" หรือทางการค้าเรียกว่า "คริสตัลกัม" เป็นก้อนผลึกสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอมชมพู ใช้เป็นยาระบาย เป็นส่วนผสมในน้ำยาเซ็ทผม เป็นยาทาบำรุงผิว ใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้า และการพิมพ์ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ผสมไอสกรมทำให้ข้น เนื้อไม้ต้มกับแป้งเป็นอาหาร ใบอ่อนใช้สระผม ดอกแห้งและใบแห้งใช้เป็นยาบำรุงกำลัง

ต้นไม้ประจำจังหวัด

 

 

ชื่อพรรณไม้ ต้นสะเดา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A.juss
  Melia azadirachta Lian
  M.indiea Brandis
ชื่อสามัญ Holytree , Pride of Chaina , Indian Margosa Tree
สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเป็นใบรวม มีใบย่อย จัดเรียงแบบขนนกตั้งแต่ 2-5 คู่ ใบเล็กยาว ริมใบเป็นหยักเล็กๆ ดอกสีขาว มีกลิ่นอ่อนๆ เป็นช่อดอกรวม ซึ่งประกอบด้วยดอกเป็นจำนวนมากผลค่อนข้างกลม เป็นรูปไข่โตเท่าปลายนิ้วก้อย เมื่อสุกมีสีเหลืองรสขมจัด มีสรรพคุณใช้ทำยาได้ทุกส่วนของต้น

เพลงอุทัยธานีศรีเมือง

โอ้งามอุทัยธานีพิไลรุ่งเรือง สมนามอุทัยประเทือง อร่ามเรืองแหล่งฝัน อุทัยน่าชม ภิรมย์รวีเฉิดฉันท์ ละอองสีทองพริ้มพรรณพิลาวรรณชื่นตาดินแดนแห่งความสุขสันต์ฤทัยร่มเย็นเป็นสุขสดใสเพราะชนชื่นใจทุกเวลาโอ้เมืองอุทัยผูกใจไว้ด้วยมนต์ตรา งามป่าไพร ท้องไร่ท้องนา ข้าวผักและปลา ไม้ป่าสมบูรณ์ โขดเขินเนินเขาตระหง่านเงื้อมเงาหน้ามอง เขาตะพาบงามไม่ลอง เขากวางทองปัฐวี ลำธารน่าชมสมเป็นดินแดนสุขศรี เหมือนดังแคว้นรมมณี สมควรที่หย่อนใจโอ้เมืองสวรรค์ หล่นฟ้าลงมา สวยงามตรึงจิตติดตา แม้นเพียงได้มาทุกข์คลายไป ถิ่นแดนสราญไม่มีไหนเปี่ยมอุทัยเมืองที่รวมรักร่วมแรงใจร่มรื่นวิไลชวนให้เยี่ยมเยือนอุทัยธานีนี้ศรีวิไลเรืองนามคู่แคว้นสยามงามสง่านิรันดร์ ประเทือง ศักดิ์ศรี ชีวีสีทองผ่องใส มณฑปพุทธบาทไซร้ ชาวอุทัยเทิดทูล อีกนามศรัทธา พระองค์พุทธา เกื้อกูลหลวงพ่อมงคลเพิ่มพูนพุทธคุณอุ่นตรา ความดีนั่นเป็นที่ถือยึดมั่น พระธรรมล้ำค่าอนันต์ถือเป็นมิ่งขวัญเหนือวิญญา เทิดองค์จักรีและองค์พระคู่ชีวันรักหทัย หมายอภิบาล คอยถิ่นสำราญคงคู่ฟ้าดิน สะแกกรังสายน้ำล้นหลามหลั่งไหล พลังของชาวอุทัยไหลรินเนืองนิจสิน แทรกมนต์ที่ขลังฝังใจไว้ให้ถวิล เหมือนดังสายธารไหลริน ครบจนสิ้นสามครา เป็นบุญอุ่นใจได้พบเนื้อคู่ ภิรมย์นักใคร่ชื่นชูเป็นคู่สู่สมสมอุราถ้อยคำเปรียบเปรยคำเคยเผยแจ้งนามมาอันห้วงธารนี้มีมนต์ตราพันผูกทุกคราประจักษ์ซึ้งใจอุทัยธานี้นี้ศรีวิไลเรืองนามคู่แคว้นสยามงามสง่าวิไล เมื่อถึงอุทัยปลอบใจมิให้อุทธรณ์ ค่ำลงก็จงโปรดนอนพักผ่อนที่อุทัย อุทัยลือเลื่องสมญาระบือเด่นไกล เชื้อเชิญชักชวนพักใจ ณ อุทัยทั่วกัน ภูมิใจหากใครถ้าแม้นได้มาเยี่ยมเยือนต้องจิตติดตา ซึ้งในอุราทุกคืนวัน อุทัยเปรียบปาน สถานทิพย์เสกสรร งามเทิดไทยไว้ชั่วนิรันดร์อบอุ่นสัมพันธ์ตรึงมั่นฤทัย

ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง บริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือตามถนสายเอเชีย ประมาณ 206 กิโลเมตร แยกเข้าจังหวัดอุทัยธานีตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 333 ที่บ้านท่าน้ำอ้อย ประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงจังหวัดอุทัยธานี รวมระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร

อุทัยธานี มีพื้นที่ทั้งหมด 6,730 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,206,404 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 3,304,362 ไร่ นอกนั้น เป็นพื้นที่ที่มีสภาพเป็นพื้นที่คุ้มครอง เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ 9 แห่ง วนอุทยาน 2 แห่ง

 

 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง

การเดินทาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปอุทัยธานีได้หลายเส้นทาง ได้แก่

1. จากถนนพหลโยธินผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ข้ามแม่น้ำ  เจ้าพระยา ลงแพขนานรถยนต์ ที่อำเภอมโนรมย์ผ่านวัดท่าซุง (วัดจันทาราม) ศาลากลางจังหวัด เข้าตลาดอุทัยธานี รวมระยะทางประมาณ 305 กิโลเมตร     (เส้นทางสายเดิมก่อนมีถนนสายเอเชีย)

2. จากทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ผานอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 333 ตรงทางแยกท่าน้ำอ้อย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาลเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ   222 กิโลเมตร

3. อีกเส้นทางหนึ่งเริ่มต้นจาก ถนนสาย 32 เช่นกัน เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 30 (อยู่ในเขตอยุธยา) เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 334 และจากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 309 ไปตามเส้นทางข้ามสะพานจังหวัดอ่างทอง จากนั้นมาตามถนนสาย 311 ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดชัยนาทที่อำเภอสรรพยา จากนั้นเลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 3183 เข้าจังหวัดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 283 กิโลเมตร

รถตู้ปรับอากาศ ให้บริการระหว่างเวลา 04.00-19.00 . จอดบริเวณใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิด้านสนามเป้า

รถโดยสารประจำทาง บริษัท  ขนส่ง  จำกัด  มีบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ - อุทัยธานี  ทุกวันจากสถานีขนส่งหมอชิต  2  กิโลเมตร  11  ใช้เวลาเดินทางประมาณ  4  ชั่วโมง  ทั้งรถโดยสารธรรมดา  และโดยสารปรับอากาศ  ตั้งแต่เวลา  04.30  น. -  17.50  น.  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  โทร   0 - 2936 - 2852 - 66  สถานีเดินรถอุทัยธานี  โทร  0 - 5651 - 1914,  0 - 5651 - 2859,  0 - 5651 - 1058  หรือ   www.transport.co.th

ระยะทางแต่ละอำเภอในจังหวัด

จังหวัดอุทัยธานี แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอแต่ละอำเภอมีระยะห่างจากอำเภอเมืองอุทัยธานีดังต่อไปนี้

อำเภอทัพทัน                             19           กิโลเมตร

อำเภอบ้านไร่                             80           กิโลเมตร

อำเภอลานสัก                            54           กิโลเมตร

อำเภอสว่างอารมณ์                  33           กิโลเมตร

อำเภอหนองขาหย่าง               10           กิโลเมตร

อำเภอหนองฉาง                       22           กิโลเมตร

อำเภอห้วยคต                             45           กิโลเมตร 

อาณาเขตติดต่อของจังหวัด

จังหวัดอุทัยธานี มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ หลายจังหวัด ดังนี้

ทิศเหนือ                  ติดต่อกับ         กิ่งอำเภอชุมตาบง  อำเภอลาดยาว  อำเภอโกรกพระ  อำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์

ทิศตะวันออก         ติดต่อกับ         อำเภอพยุหะคีรี   จังหวัดนครสวรรค์  และ อำเภอมโนรมย์  จังหวัดชัยนาท

ทิศใต้                        ติดต่อกับ         อำเภอวัดสิงห์  กิ่งอำเภอหนองมะโมง กิ่งอำเภอเนินขาม  จังหวัดชัยนาท   และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี  อำเภอศรีสวัสดิ์  จังหวัดกาญจนบุรี

ทิศตะวันตก           ติดต่อกับ         อำเภอศรีสวัสดิ์  จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอทองผาภูมิ  จังหวัดกาญนบุรี  และอำเภออุ้มผาง  จังหวัดตาก                                                                     

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่โดยทั่วไป จะเป็นป่าและภูเขาลาดเทจากทิศตะวันตกต่ำ ลงมาทางทิศตะวันออก โดยทางทิศตะวันตกจะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ตอนกลางของจังหวัดเป็นที่ดอน พื้นที่ลักษณะเป็นลูกคลื่น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มทางการเกษตร ซึ่งจากพื้นที่ดังกล่าวทำให้จังหวัดอุทัยธานี ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านทิศตะวันตก และหากปีใดมีน้ำมาก หรือน้ำหลากจะเกิดน้ำท่วมด้านทิศตะวันออกเป็นประจำ

  ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพอากาศทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ฤดู

ฤดูร้อน           เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม

ฤดูฝน             เริ่มตั้งแต่ กลางเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม โดยฝนจะตกทางด้านตะวันตก    มากกว่าด้านตะวันออก เนื่องจากอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุมและดีเปรสชั่น

ฤดูหนาว       เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป  จนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ข้อมูลด้านการเมือง การปกครอง

โครงสร้างราชการบริหารส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในจังหวัด

1 หน่วยราชการส่วนกลาง 35 หน่วยงาน

     - หน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค              27           หน่วยงาน

     - หน่วยงานอิสระ                                              2             หน่วยงาน

     - หน่วยงานสังกัดรัฐวิสาหกิจ                         12           หน่วยงาน

2.  การจัดองค์กรราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  คือ

     -  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  1  แห่ง  ได้แก่  องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี

     -  เทศบาลเมือง  1  แห่ง  ได้แก่  เทศบาลเมืองอุทัยธานี

     -  เทศบาลตำบล  13  แห่ง

     -  องค์การบริหารส่วนตำบล  49  แห่ง

10 กรกฎาคม 2556 | จำนวนเข้าชม 4103 ครั้ง